>>>‘บีไอจี’ ผนึกพันธมิตรสร้าง Ecosystem ยุคเปลี่ยนผ่าน ‘ไฮโดรเจน’ ทางเลือก Net Zero

‘บีไอจี’ ผนึกพันธมิตรสร้าง Ecosystem ยุคเปลี่ยนผ่าน ‘ไฮโดรเจน’ ทางเลือก Net Zero

2023-06-29T17:15:25+07:00
  • Climate Tech Forum
  • Climate Tech Forum
  • Climate Tech Forum
  • Climate Tech Forum

บีไอจี ชูนวัตกรรม Climate Technology เน้นความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อสร้าง Ecosystem สู่ความยั่งยืน ชี้พลังงานไฮโดรเจนเป็นเทคโนโลยีใหม่ หนุนสู่เป้าหมาย Net Zero ปตท.หนุนเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านธุรกิจ มั่นใจอนาคตใช้ไฮโดรเจนมากขึ้น “โตโยต้า-ซีพี” ผนึกกำลังผลิตไฮโดรเจนจากมูลสัตว์ “กลุ่มดาว” เร่งเดินหน้า Climate Tech ลุยเป้าหมายลดคาร์บอน

“กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมกับ “บีไอจี” ผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Company) จัดเวทีสัมมนา Climate Tech Forum : Infinite Innovation… Connecting Business to Net Zero เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ณ ห้องแมกโนเลีย บอลรูม รร. วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ

เวทีสัมมนาครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ พร้อมสร้างพลังขับเคลื่อนร่วมกันทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อย้ำความตั้งใจของบีไอจีในการผลักดันเทคโนโลยีการลดผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนที่สอดรับเป้าหมายของไทยและทั่วโลก

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี กล่าวว่า บีไอจีในบริบทใหม่จะเน้นลงมือทำเพื่อสร้างความยั่งยืน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทั่วโลก และแม้แต่กรุงเทพมหานครก็ตกอยู่ในความเสี่ยงน้ำทะเลสูงขึ้นทุกปี รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่ในเดือน มิ.ย. 2566 แต่ฝนยังตกน้อย ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีปริมาณก๊าซปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมาก ซึ่งมาจากการผลิตสินค้าและบริการทั้งภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรมและการเกษตร

“ธุรกิจหลักบีไอจีคือนำเอาก๊าซไฮโดรเจน ไนโตรเจน ออกซิเจน มาเป็นรากฐานเพื่อผลิตสินค้าให้คนไทย ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับโชติช่วงชัชวาลกว่า 35 ปี ทำให้อุตสาหกรรมเติบโตและได้รับความไว้วางใจจนเป็นผู้นำก๊าซอุตสาหกรรม และได้รับการยอมรับจากเวทีโลกเรื่องความยั่งยืน”

สำหรับหลักความยั่งยืนของบีไอจี และ แอร์โปรดักส์ ที่เป็นบริษัทแม่ในสหรัฐเน้นหลักความยั่งยืนที่ดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งไฮโดรเจนจะช่วยดึงกำมะถันเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยช่วงวิกฤติพบว่าผลิตภัณฑ์บีไอจี ช่วยชีวิตทีมหมูป่า และช่วยแก้ปัญหาขาดออกซิเจนช่วงโควิด-19 รวมถึงช่วยบำบัดบึงน้ำให้สะอาดขึ้นจากความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 50%

ทั้งนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ ซึ่งมองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องลุกขึ้นมาลงมือทำเพื่อสร้างความแตกต่างที่หลากหลายจากความมุ่งมั่นที่ไม่ได้แค่ผลิต แต่จะนำความเชี่ยวชาญที่มีมาแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรม อาทิ การผลิตให้คุ้มค่ามีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนมากขึ้น

“เป้าหมายของ บีไอจี เชื่อว่าสอดคล้องกับทุกภาคส่วน คือบรรลุเป้าหมาย Net Zero ที่บางบริษัทวางเป้าไว้สอดคล้องกันปี 2050 ไวกว่าเป้าหมายประเทศ และวันนี้เราลงมือทำไปแล้ว สามารถลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิได้ 20% และในปี 2030 จะได้ลด 30% และปี 2040 และปี 2050 จะสามารถเป็นศูนย์ จากการใช้ Climate Technology”

ชู 5 แนวทางลดการปล่อยคาร์บอน

นายปิยบุตร กล่าวว่า สิ่งที่อยากเน้นย้ำใน 5 เรื่อง คือ

  1. เทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ที่ประยุกต์ใช้ได้ในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นเทคโนโลยีนี้จึงเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยคาร์บอน และการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
  1. ไฮโดรเจน โดยบีไอจีเชี่ยวชาญและเป็นรายใหญ่สุดของโลก บริษัทแม่ลงทุน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเน้น Blue Hydrogen และ Green Hydrogen ซึ่งคืบหน้า 20-30% และพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบปี 2026-2027
  1. Solutions ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจประเทศ
  1. Platform เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่ตรวจจับว่าภาคอุตสาหกรรมปล่อยคาร์บอนปริมาณเท่าไหร่ รวมถึงการตรวจจับการใช้พลังงาน วิธีการลดคาร์บอนในรูปแบบตามความเหมาะสมของธุรกิจ และซื้อขายคาร์บอนเคดิตผ่าน Platform ของบีไอจีได้
  1. การนำ BCG Model (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว) มาใช้เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“บีไอจี” นำร่องปั๊มจ่ายไฮโดรเจน

ทั้งนี้ เพื่อตอบรับกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ปัจจุบันใช้ลดการปลดปล่อยกำมะถัน โดย บีไอจี ร่วมกับกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) แห่งแรกของไทยที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

สำหรับการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาทดสอบใช้งานให้บริการรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดการใช้ฟอสซิลฟิลจากภาคไฟฟ้า 30% โดยเฉลี่ยมีคาร์บอนต่ำถึง 60% และสร้าง Hydrogen Economy โดยนำไปใช้ในตอนกลางคืน รวมถึงภาคผลิตไฟฟ้าไฟฟ้าและหลายอุตสาหกรรมในมาบตาพุด

นอกจากนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใหญ่เกินกว่าที่จะทำคนเดียวได้จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญที่หลากหลายมาร่วมเป็น Ecosystem และหากนำมาจับภาคธุรกิจจะทำให้ระบบนิเวศภาคธุรกิจอุตสาหกรรมดีขึ้น เพราะปัญหาความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยความหลากหลาย ความเป็นมนุษย์และภาวะผู้นำ จะดึงประโยชน์จากความแตกต่างที่เข้าใจความเป็นมนุษย์มาใช้ปัญหา คิดสร้างสรรจากการใช้หัวใจทำงานร่วมกัน

“ต้องการทุกคนที่มีส่วนร่วมและมีเป้าหมายเดียวกัน ไม่อยากให้มองเป็นภัยคุกคาม แต่อยากให้มองปัญหาคือโอกาสธุรกิจเพื่อให้โลกยั่งยืน จึงทำได้ทันทีเพื่อให้พรุ่งนี้มีอนาคตที่ดีขึ้น”

ปตท. หนุนเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านธุรกิจ

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความยั่งยืนถือเป็นระดับนานาชาติ ซึ่งบริษัทในไทยและระดับโลกต้องทำเรื่องนี้ และ ปตท. ใส่ความยั่งยืนในแผนธุรกิจมา 10 ปีแล้ว โดยได้รับการจัดอันดับด้านความยั่งยืนเป็นปีที่ 11

ทั้งนี้ การจะถึงเป้าหมายและดำเนินตามวิสัยทัศน์ใหม่มีเรื่องสำคัญ คือ การตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ 15% เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2040 และ 2050 เป็น Net Zero ถือว่าเร็วกว่าคนอื่น เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับเทคโนโลยีที่ ปตท. ใช้ลดคาร์บอนดำเนินการผ่าน 3 ประเด็น คือ 1. การเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน 2. การปรับพอร์ทธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนโดยเพิ่มธุรหกิจใหม่เสริม 3. การปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ เพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก

“การใช้เทคโนโลยีสำคัญ คือ Smart Energy Platform ซึ่งในอนาคตจะมีพลังงานทดแทนที่หลากหลายขึ้นที่มาจากลม แสงอาทิตย์ นิวเคลียร์ ไฮโดรเจนหรือแบตเตอรี่ และสุดท้ายคือการซื้อขายไฟสะอาด ดังนั้น Smart Energy Platform จึงสำคัญเพราะจะเชื่อมกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้องผ่านระบบเอไอทั้งนิคมอุตสาหกรรม”

มั่นใจใช้ไฮโดรเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. เป็นผู้ผลิตจากการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจึงเริ่มพัฒนาเทคโนโลยี CCS และ CCUS จากการเป็นผู้ชำนาญการแยกก๊าซที่ทำทั้งไฮโดรเจนและคาร์บอน โดยอนาคตจะใช้ไฮโดรเจนมากขึ้น การแยกคาร์บอนมาใช้จะเกิดประโยชรน์มากมาย อาทิ เมทานอล หรือ นาโนแคลเซียมคาร์บอเนต ดังนั้น ไฮโดรเจนที่ร่วมใช้กับบีไอจี ทำให้เห็นว่าไม่มีอันตราย และหากจะเป็นที่สุดของการใช้ไฮโดรเจนเพื่อยานยนต์นั้น การใช้กับรถบรรทุกดีที่สุดเพราะสามารถเดินทางไกล

“ปตท. เห็นประโยชน์ของการแยกไฮโดรเจนเพื่อส่งผ่านทางท่อก๊าซ จะส่งไฮโดรเจนให้รถบรรทุกแทนการเติม NGV ได้ในอนาคตจะลดค่าขนส่ง ดังนั้นเทคโนโลยีใหม่จะคล้ายหลักดีมานด์กับซัพพลาย ถ้าปริมาณมากต้นทุนจะถูกลง จึงต้องทำให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคากลายเป็น New Normal ที่ทุกคนต้องใช้”

นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะมีปัญหาเรื่องความคาดหวังที่ต่างกัน โดยไม่สามารถใช้พลังงานประเภทใดประเภทหนึ่งได้ ดังนั้น ปตท. คำนึงว่าต้องปรับโมเดลเสมอ

รวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐอีกเรื่องที่สำคัญ คือ มาตรฐานไทยกับต่างประเทศต่างกันหรือไม่ หรือบางมาตรฐานเขียนแล้วบางเรื่องเป็นเรื่องของการแข่งขันทางการค้าหรือไม่ เทคโนโลยีสามารถพัฒนาได้ โดย ปตท. เป็นทั้งบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงต้องผสมผสานเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานสะอาดและปรับเปลี่ยนตัวเองตลอด

“ถ้าไปถึง Ecosystem ห่วงโซ่อุปทานมีทั้งแนวดิ่งแนวนอน เราต้องใช้ประโยชน์ส่งต่อซึ่งกันและกัน ถ้าจะไป Net Zero ต้องเตรียมตัวและมีความเข้าใจเรื่องนี้ และกำหนดฟังชั่นโครสร้างพิ้นฐาน โดยถ้าเตรียมพร้อมจะวิ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2050 โดยผสมผสานการวิ่งผลัดและวิ่งมาราทอน รวมทั้งระหว่างส่งไม้ต้องเข้าใจกันและส่งให้ดี”

“ดาว” เดินหน้า Climate Tech

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหา Climate Change มีทั้งความท้ายและโอกาส ซึ่งในส่วนนี้หลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการเพื่อลดก๊าซคาร์บอนและปัจจัยที่เห็นชัดสุด คือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป โดยภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต้องดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1. การรอมาตรการมีผลแล้วปรับเปลี่ยน 2. การดิสรัปหรือเปลี่ยนตัวเองเพื่อสร้างโอกาส

ทั้งนี้ ”ดาว” เลือกดิสรัปตัวเองเพื่อลดคาร์บอนทั้งในโรงงานและผลิตภัณฑ์ของดาว โดยมีแผนงานที่ชัดเจนเป้าหมายปี 2025 คือ การต่อต้านปัญหาโลกร้อนด้วยการลดคาร์บอน การเปลี่ยนขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการผลิตสินค้าและบริการจากวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่

รวมทั้งในปัจจุบันพบว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนมี 4 ปัจจัย ประกอบด้วย 1. เทคโนโลยีต้องผสมผสานอย่างลงตัว 2. โครงสร้างพื้นฐานต้องพร้อมรองรับเทคโนโลยี 3. Regulation ที่ต้องเป็นตัวสนับสนุนหรือส่งเสริมการนำเทคโนลียีมาใช้ โดยเฉพาะผู้ที่กำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใหม่หรือเก่า 4. การเปลี่ยนความคิดหรือ Mindset ให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความร่วมมือของทุกฝ่าย รวมทั้งสร้างระบบ Ecosystem โดยการจับมือกับพันธมิตร พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

“โตโยต้า-ซีพี”ศึกษาผลิตไฮโดรเจน

นายสุรศักดิ์ สุทองวัน ผู้ช่วยบริหารกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้ช่วยบริหารประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ไทยถือเป็นประเทศแรกที่เรานำโครงการทดลองพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากบีไอจี และไทยเป็นประเทศจุดตั้งต้นในการนำพลังงานทดแทนมาใช้เพื่อไปสู่เป้าหมาย Climate Change

นอกจากนี้โตโยต้าร่วมมือกับบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นอีก 5 บริษัท เพื่อทำสัญญาร่วมกับพาร์ทเนอร์ของไทย คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และเครือเอสซีจี โดยร่วมกับซีพีเพื่อศึกษาผลิตไฮโดรเจนจากมูลสัตว์ และในอีกไม่นานจะมีการนำเข้าอุปกรณ์ผลิตโฮโดรเจน ขณะที่ความร่วมมือกับเอสซีจีจะร่วมกันทดลองใช้ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้การเลือกยานยนต์ที่เหมาะสมมาใช้ เช่น รถปิกอัพไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า เพื่อร่วมมือกับพันธมิตรในการทดลองใช้งาน และหาโซลูชั่นที่ดีที่สุด รวมทั้งการขนส่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจากคาร์บอนให้น้อยที่สุดโดยการใช้ดาต้าไอที ซึ่งคาดว่าสิ่งที่ดำเนินการทั้งหมดจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

“ในช่วงการเปลี่ยนผ่านถือว่ามีความท้าทายมากไม่ว่าการมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศ ทั้งไฮโดรเจน ไฟฟ้า ความคุ้มค่า การลงทุน การสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค โดยสิ่งที่เรายังขาดอยู่คือการสนับสนุนจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษีการนำเข้า และการเอื้อให้เกิดการทดลองเทคโนโลยีใหม่ เช่น เทคโนโลยีด้านไฮโดรเจน” นายสุรศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ นโยบายจะไม่สามารถดำเนินการได้หากขาดความร่วมมือระหว่างรัฐเอกชน โดยถ้าอยากให้ธุรกิจต่อเนื่องจะเกิดการลงทุนมากขึ้นและเกิดการพัฒนา

รวมทั้งสิ่งสำคัญสุด คือ การส่งสัญญาณภาครัฐ โดยจะเน้นไฮโดรเจนที่มองว่าในปี 2040 จะเริ่มใช้งานจริง ซึ่งตอนนี้ติดเรื่องราคาจึงจะใช้วิธีผสมผสาน เชื่อว่าอีก 7 ปี จะดำเนินการได้จากเป้าหมายที่วางไว้ ไฮโดรเจนจะเกิดอุตสาหกรรมผลิต เกิดอุตสาหกรรมจัดเก็บขนส่งจะเกิดขึ้นอีกมาก

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภาคพลังงาน การออกใบรับรองพลังงานสีเขียวในอนาคต ถ้าซื้อไฟจากภาครัฐจะได้ใบรับรองที่ได้รับการสนับสนุนมีกฎกติกา เราพยายามส่งสัญญาณเชิงนโยบาย ซึ่งวันนี้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด การจะเกิดกรีนเทคโนโลยี จะต้องศึกษาและนำมาใช้แพร่หลาย ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะรัฐและเอกชน ต้องร่วมมือกันสร้าง Ecosystem เพื่อให้ถึงเป้าหมาย Net Zero


Share:
Right Menu Icon
บริษัทใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ bigth.com ของท่านที่ดีกว่าเดิม ในการใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าท่านยอมรับการใช้คุกกี้ตามที่ระบุใน มาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยอมรับ