ออกซิเจนต่อลมหายใจประเทศไทย ก้าวข้ามวิกฤต Covid-19

14 May 2021

การกลับมาของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ในระลอกที่ 3 สำหรับประเทศไทยแล้ว สถานการณ์ครั้งนี้มีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายต่างเกิดความกังวลว่าระบบสาธารณสุขของไทยจะแบกรับไหวหรือไม่ โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานที่ต้องใช้ในการต่อสู้กับโรค ไม่ว่าจะเป็นเตียงผู้ป่วย จำนวนบุคคลากรทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ หรือแม้แต่ ออกซิเจน เองก็ตาม ดังที่เป็นข่าวระดับโลกอย่างประเทศอินเดียที่ไม่ได้ประสบปัญหาที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยังประสบปัญหาขาดแคลนออกซิเจนอีกด้วย จึงเป็นคำถามและความกังวลที่เกิดขึ้นว่าประเทศไทยจะเกิดวิกฤตเช่นนั้นหรือไม่


คุณปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จํากัด (บีไอจี)
ผู้นำด้านนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมครบวงจรของประเทศไทย พูดคุยในประเด็นดังกล่าวในรายการ Techsauce Live

คุณปิยบุตรพูดถึงความสำคัญของออกซิเจนสำหรับมนุษย์ โดยทั่วไปแล้วอากาศที่เราสูดเข้าไปในร่างกายประกอบไปด้วย ออกซิเจน 20% ไนโตรเจน 70% อาร์กอน 0.93 % คาร์บอนไดออกไซด์ 0.03 % ปัจจุบันความต้องการออกซิเจนในประเทศมีอยู่ถึง 300 ตันต่อหนึ่งวัน และเพิ่มขึ้น 20% ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ที่ระบาดเป็น 350 ตันต่อวัน แต่อย่างไรก็ตาม ทางโรงงานสามารถผลิตออกซิเจนได้สูงสุดถึง 1,000 ตันต่อวัน เพราะฉะนั้น ปริมาณของออกซิเจนจะเพียงพอต่อความต้องการในประเทศอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีระบบจัดเก็บออกซิเจนในแบบของเหลวซึ่งทำให้การเก็บออกซิเจนมีประสิทธิภาพขึ้นถึง 600 เท่าดีกว่าการเก็บออกซิเจนในรูปแบบของก๊าซ มากกว่านั้น โรงพยาบาลในประเทศไทยมากกว่า 80% ได้มีระบบจัดเก็บออกซิเจนในรูปแบบของเหลวเป็นที่เรียบร้อย สำหรับออกซิเจนแล้วมีความสำคัญต่อกระบวนการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Covid-19 เป็นอย่างมาก เพราะจะมีส่วนช่วยในเรื่องของการแลกเปลี่ยนอากาศในปอดและเติมเซลล์ให้กับร่างกาย

วิกฤตออกซิเจนขาดแคลนในอินเดีย

แม้ว่าอินเดียจะสามารถผลิตออกซิเจนได้มากกว่าประเทศไทย โดยอินเดียสามารถผลิตออกซิเจนต่อวันได้ถึง 7,000-9,000 ตัน แต่ปัญหาที่สำคัญของอินเดียคือระบบการจัดเก็บและขนส่งออกซิเจน ในปัจจุบันออกซิเจนในอินเดียยังคงถูกเก็บในระบบก๊าซ ซึ่งส่งผลกระทบในด้านการจัดเก็บที่ไม่ดีและส่งผลให้ลดประสิทธิภาพในการใช้ออกซิเจนอย่างมาก และโรงงานผลิตออกซิเจนในอินเดียอยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ แต่ผู้ติดเชื้อและโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตก ดังนั้นการขนส่งในอินเดียต้องใช้เวลามากกว่า 18 ชั่วโมง และบีไอจีได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือด้วยการส่งภาชนะบรรจุออกซิเจนจำนวน 6 ตู้ให้กับทางอินเดียเพื่อเพิ่มที่การจัดเก็บออกซิเจนในประเทศด้วย

#RestartOxygen ช่วยเหลือประเทศไทยฝ่าวิกฤต Covid-19

บีไอจีได้ตัดสินใจ Restart โรงงานแยกอากาศขึ้นมาใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์อย่าง GC ในด้านของพลังงานไฟฟ้า เกิดเป็นโครงการ “Restart Oxygen Restart Thailand” เพื่อเชิญชวนคนไทยทุกคนได้รีสตาร์ทประเทศไทยใหม่อีกครั้ง โดยคุณปิยบุตรยังคงสนับสนุนให้คนไทยในสถานการ์ณการระบาดของไวรัส Covid-19 ได้ออกมาช่วยประเทศโดยทำตามสิ่งที่ทุกคนถนัดเพื่อทำให้ประเทศผ่านพ้นเวลาช่วงวิกฤตแบบนี้ไปได้

สำหรับประเทศไทยยังถือว่ามีการจัดการระบบสาธารณสุขที่ดีเมื่อมองถึงการจัดการระบบของออกซิเจนและเรื่องของบุคคลากรทางการแพทย์เป็นต้น และโรงพยาบาลใดขาดแคลนในเรื่องของออกซิเจนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านเฟสบุ๊กเพจ Bangkok Industrial Gas ได้โดยตรง คุณปิยบุตรกล่าวปิดท้าย

ที่มา: Techsauce Thailand


Tags: COVID-19  Restart Oxygen  Restart Thailand  ออกซิเจน 
Share: