การใช้ความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลวเพื่อนวัตกรรมการแยกอากาศ

11 ธันวาคม 2562

5
(1)

ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีแนวโน้มลดลง โดยผู้นำเข้าหลัก LNG ของประเทศคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเก็บไว้ในถังของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ก่อนจะมีการเปลี่ยนสถานะให้เป็นก๊าซส่งผ่านระบบท่อเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงเชื้อเพลิงในรถยนต์ (NGV)

LNG's Cold Energy Usage in ASU

ในกระบวนการเปลี่ยนสถานะจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาเป็นก๊าซจะเกิดความเย็นในรูปแบบของน้ำเย็นถูกปล่อยลงทะเลกว่า 2,500 ตันต่อชั่วโมง ด้วยเหตุนี้ บีไอจี และ ปตท. จึงมีแนวคิดนำความเย็นที่ได้จากกระบวนการนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศโดยนำมาเป็นหนึ่งในสาธารณูปโภคเพื่อแยกอากาศให้เป็นไนโตรเจน (N2) ออกซิเจน (O2) และอาร์กอน (Ar) ในโรงแยกอากาศที่แห่งใหม่จัดตั้งภายใต้บริษัทร่วมทุนในนาม บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด (เอ็มเอพี) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการทำธุรกิจของบีไอจีที่มุ่งเน้นการพัฒนาสู่ความยั่งยืน พร้อมส่งมอบมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ไม่มีที่สิ้นสุดจากอากาศ

การนำพลังงานความเย็นที่ได้จากกระบวนการเปลี่ยนสถานะ LNG มาเป็นก๊าซจะช่วยเสริมกระบวนการแยกอากาศที่โดยทั่วไปใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมหาศาลเพื่อเพิ่มความดันอากาศและลดความเย็นอย่างรวดเร็วเพื่อให้ไนโตรเจน ออกซิเจน และอาร์กอนถูกกลั่นแยกออกจากกัน (คล้ายกับกระบวนการกลั่นแยกน้ำมันชนิดต่าง ๆ ในโรงกลั่นน้ำมัน) โดยจะส่งผลให้สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมได้ ทั้งนี้ โรงแยกอากาศที่มีนวัตกรรมการใช้ความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะของ LNG จะตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณถังเก็บ LNG ของ PTTLNG ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และคาดว่าจะพร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ประมาณปี 2564

LNG's Cold Energy Usage in ASULNG Value Chain and Cold Energy Usage

โรงแยกอากาศใหม่ดีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร

เมื่อเปิดดำเนินการโรงแยกอากาศที่ใช้นวัตกรรมความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะของ LNG เป็นก๊าซ จะเกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและประเทศชาติในหลายด้าน อาทิ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) สามารถใช้ออกซิเจน ไนโตรเจน และอาร์กอนที่ผลิตได้จากโรงแยกอากาศนี้เพื่อการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การนำนวัตกรรมจากไนโตรเจนไปใช้เพื่อรักษาคุณภาพความสดใหม่ของผลไม้ก่อนเก็บในห้องเย็น ซึ่งจะช่วยให้การเก็บรักษาผลไม้มีคุณภาพดีขึ้น ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของประเทศ รองรับโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor: EFC) ซึ่งจะเป็นตลาดกลางผลไม้คุณภาพสูงในพื้นที่อีอีซี

ก๊าซธรรมชาติส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของประเทศลดลง

การนำความเย็นเหลือทิ้งจากการเปลี่ยนสถานะ LNG มาใช้ประโยชน์ จะช่วยลดการปล่อยทิ้งน้ำเย็นลงแหล่งน้ำสาธารณะจากกระบวนการแปลงสภาพ LNG ลงได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 28,000 ตันต่อปี จากการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการแยกอากาศและค่าใช้จ่ายในการนำความเย็นมาใช้ประโยชน์จะถูกจัดเก็บเป็นรายได้ เพื่อช่วยลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยของประเทศลดลง

โรงแยกอากาศแห่งนี้เป็นโครงการที่สอดคล้องกับแนวคิดการทำธุรกิจของบีไอจีที่มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถส่งมอบมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับพันธมิตรทางธุรกิจ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและยังมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรของไทย อีกทั้งสนับสนุนกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือที่เรียกว่า New S-Curve ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญด้วยนวัตกรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่
Gasmosphere Magazine

 

 

 

How useful was this post

5 / 5. 1


Tags: EEC  ก๊าซธรรมชาติ  นวัตกรรม  โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก  โรงแยกอากาศ 
Share: